เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI

เครื่องตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า : Magnetic Resonance Imaging

MRI คือ เครื่องตรวจวินิจฉัยที่สร้างภาพด้วยสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นการตรวจวินิจฉัยที่มีความถูกต้อง แม่นยำสูง เนื่องจากให้ความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ดี สามารถใช้ตรวจได้ทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะในระบบสมอง กระดูกสันหลัง MRI ยังมีประโยชน์มากในการตรวจผู้ป่วยเด็ก เนื่องจากไม่มีอันตรายจากรังสีที่เกิดจากการเอกซเรย์

เครื่อง MRI เป็นเครื่องตรวจวินิจฉัยที่สามารถใช้ตรวจหาความผิดปกติ ที่เกิดขึ้นของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกาย ดังนี้

  1. สมอง ได้แก่ สมองขาดเลือด เนื้องอก สาเหตุการชัก การอักเสบติดเชื้อของเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมอง
  2. กระดูกสันหลังและไขสันหลัง ได้แก่ หมอนรองกระดูกเคลื่อน เนื้องอกไขสันหลัง การติดเชื้อ บาดเจ็บไขสันหลัง
  3. หลอดโลหิตในสมองและลำตัว
  4. เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อ กระดูกส่วนต่างๆ รวมทั้งการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นบริเวณข้อกระดูก เช่น ข้อเข่า
  5. อวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก ต่อมลูกหมาก และกระเพาะปัสสาวะ
  6. บริเวณทรวงอก หัวใจ ช่องท้อง ท้องและเต้านมสตรี
  7. การตรวจพิเศษอื่นทาง MRI อื่นๆ เช่น MR Perfusion หรือ MR Spectroscopy

ข้อดีของการตรวจด้วยเครื่อง MRI

  1. สามารถให้ภาพที่จำแนกคุณสมบัติของเนื้อเยื่อที่แตกต่างกันได้อย่างชัดเจนและตรวจหาสิ่งผิดปกติในระยะแรกได้ ทำให้มีความถูกต้องแม่นยำในการวินิจฉัยโรคมากยิ่งขึ้น
  2. ตรวจได้ทุกระนาบโดยไม่ต้องเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนท่าผู้ป่วย
  3. สามารถตรวจสมอง เส้นประสาทไขสันหลัง เส้นประสาทในร่างกาย เส้นเลือด กระดูก กล้ามเนื้อ และเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ภายในกระดูกได้
  4. เป็นการตรวจที่ไม่มีรังสีเอกซ์ที่เป็นอันตรายแก่ร่างกาย ทำให้สามารถตรวจในผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ในช่วง 6 – 9 เดือนได้ หากมีข้อบ่งชี้การส่งตรวจที่เหมาะสม แต่ยังคงหลีกเลี่ยงการตรวจในระยะ 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์
  5. ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงจากการฉีดสารทึบรังสี เช่น ผู้ป่วยไตวาย สามารถทำการตรวจได้เนื่องจากไม่จำเป็นต้องฉีดสารทึบรังสี
  6. โอกาสแพ้สารที่ใช้ในการตรวจ (Gadolinium)น้อยมาก เมื่อเทียบกับสารทึบรังสีที่ใช้ในการตรวจเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์

ข้อควรระวังและข้อยกเว้นในการตรวจ MRI : จากการที่เครื่อง MRI ใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจึงเกิดมีสนามแม่เหล็กแรงสูงตลอดเวลา ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของอุปกรณ์ที่มีส่วนผสมของโลหะทั้งที่อยู่ร่างกายหรือที่ติดตัวมากับผู้ป่วย จึงมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

ข้อควรระวัง : ผู้ป่วยที่มีเครื่องประดับโลหะ บัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็ม ฯลฯ ต้องเอาสิ่งของเหล่านี้ออกจากตัวก่อนเข้าห้องตรวจ MRI

ข้อยกเว้น : ผู้ป่วยต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทราบ ทั้งแพทย์ พยาบาลและผู้ดูแล ในกรณีต่อไปนี้ เนื่องจากอาจมีผลต่อการทำงานของเครื่องมือและอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

  1. ใส่เครื่องกระตุ้นการทำงานของหัวใจ (Cardiac pacemaker)
  2. ติดคลิปอุดหลอดเลือดในเส้นเลือดโป่งพอง (Aneurysm clips)
  3. เปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ
  4. ใส่อวัยวะเทียมภายในหู (Ear implant)
  5. มีโลหะต่างๆ อยู่ในร่างกาย เช่น ข้อเทียม โลหะดามกระดูก กระสุนปืน เป็นต้น
  6. ตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในระยะ 3 เดือนแรก
  7. มีสิ่งแปลกปลอมที่เป็นโลหะติดอยู่ที่ตา
  8. กลัวที่แคบๆ หรือไม่สามารถนอนราบในอุโมงค์ตรวจได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ แผนกลูกค้าสัมพันธ์ โทร. 0-2223-1351 ต่อ 3126

การผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวชและศัลยกรรม
เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan 160 Slices)
เครื่องตรวจวินิจฉัยโรคด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI
ห้องปฏิบัติการเครื่องฉีดสีสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cath lab)