โรคมะเร็งรังไข่

โรคมะเร็งรังไข่

มะเร็งรังไข่ เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณรังไข่หรือท่อนําไข่ ทําให้รังไข่มีการขยายขนาดเพิ่มเรื่อยๆ จนทำให้มีการแพร่กระจายในที่สุด ซึ่งมักกระจายไปตามเยื่อบุช่องท้องหรือเข้าสู่กระแสเลือดหรือทางเดิน นํ้าเหลือง จนไปปรากฏยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย จัดเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตมากที่สุดของมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ผู้หญิง เนื่องจากโรคนี้ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่มีอาการแสดง หรือมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นมะเร็งรังไข่ มะเร็งรังไข่เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั่วโลก รวมทั้งในผู้หญิงไทยพบได้ในผู้หญิงหลายช่วงวัยทั้งในวัยเด็กและวัยเจริญพันธุ์ แต่มักพบได้มากในช่วงอายุ 40 – 60 ปี

สัญญาณอาการบ่งบอกถึงความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งรังไข่

  • รู้สึกอึดอัดในช่องท้อง
  • เบื่ออาหาร รู้สึกอิ่มจนอึดอัดถึงแม้รับประทานอาหารอ่อนๆ อาหารไม่ย่อย ท้องอืดท้องเฟ้อ หรือปวดท้อง
  • คลื่นไส้ ท้องเสีย ท้องผูก หรือปัสสาวะบ่อย
  • น้ำหนักขึ้นหรือลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • มีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด
  • คลำก้อนเนื้อได้ในท้องน้อย ปวดท้องน้อย
  • ในระยะท้ายๆ อาจมีน้ำในช่องท้องทำให้ท้องโตขึ้นกว่าเดิม ผอมแห้ง น้ำหนักลด

 

ปัจจุบันการรักษามะเร็งรังไข่มีหลากหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การรักษาต่อเนื่องด้วยการให้ยาเคมีบำบัดหรือร่วมกับยารักษาตรงเป้า สำหรับผู้มีความกังวลถึงโรคมะเร็งรังไข่ เบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติ และเข้ารับการตรวจภายในหรือทางทวารหนัก โดยการตรวจอัลตราซาวนด์นั้นมีประโยชน์ในการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ในระยะแรก และมีความไวในการตรวจพบก้อนเนื้อ ในขั้นตอนต่อไปจะเป็นการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งร่วมกับอัลตราซาวนด์ เพื่อเพิ่มความแม่นยำ หรือการเข้าตรวจด้วยรังสีวินิจฉัย เช่น การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography : CT scan) หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic Resonance Imaging : MRI) ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยและดูการแพร่กระจายของโรค เพื่อวางแผนการรักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแพทย์ผู้ชำนาญการเป็นผู้ประเมิน

 

นอกจากนี้การเข้าตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปีหรือเน้นการตรวจภายในหรือตรวจอัลตราซาวด์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควรลดการรับประทานไขมันจากสัตว์ เพราะหากทานปริมาณที่มากเกินไปอาจจะมีความเสี่ยงของการเกิดเป็นโรคมะเร็งรังไข่ได้

โรคมะเร็งรังไข่
นอนกรนในเด็ก.. เสี่ยงต่อการหยุดหายใจ