ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว.. เสี่ยง‘หัวใจเต้นผิดจังหวะ’

หลายๆ คนคงเคยมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เวียนศีรษะ ตาลาย อาการเหล่านี้เป็นเรื่องใกล้ตัว ซึ่งอาการดังกล่าวอาจเป็นหนึ่งในโรคหัวใจที่กำลังแพร่หลายในปัจจุบัน โดยเฉพาะสังคมผู้สูงอายุมักมีอาการของภาวะที่เรียกว่า ‘หัวใจเต้นผิดจังหวะ’

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นอาการที่หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะตามธรรมชาติ โดยอาจเต้นเร็วหรือเต้นช้าเกินไป เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของกระแสไฟฟ้าในหัวใจหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรในห้องหัวใจ ทำให้การสูบฉีดเลือดไปยังส่วนต่างๆของร่างกายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหลอดเลือดสมองอุดตันเพิ่มมากขึ้น มักพบมากในผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจ หรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

 

ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งอายุที่มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีโรคบางชนิดที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ เป็นต้น โดยเบื้องต้นผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว (มากกว่า 100 ครั้งต่อนาที) หัวใจเต้นช้า (น้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที) เจ็บแน่นหน้าอก หายใจขัด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด หมดสติ ซึ่งหากเกิดอาการขึ้นอย่างกะทันหันหรือบ่อยครั้ง ควรรีบไปพบแพทย์

 

การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ แพทย์จะพิจารณาตามสาเหตุ อาการ ตำแหน่ง และความรุนแรงของโรค โดยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ในบางชนิดแพทย์จะมีทางเลือกในการรักษาได้แก่ การใช้ยา เพื่อควบคุมจังหวะของหัวใจ สำหรับผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดปกติ การใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) โดยการสอดสายนำไฟฟ้าไปยังหัวใจเพื่อควบคุมและกระตุ้นให้หัวใจเต้นตามอัตราที่กำหนด การใช้ไฟฟ้ากระตุก เพื่อปรับการเต้นของหัวใจ การใช้สายสวนเพื่อจี้ไฟฟ้าตำแหน่งที่ลัดวงจร วิธีนี้อาจช่วยให้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดหายขาดได้ และการฝังเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ โดยเครื่องมือจะปล่อยพลังงานไฟฟ้าในระดับที่เหมาะสมเพื่อกระตุกหัวใจให้กลับมาเต้นปกติทันที

 

ทั้งนี้ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะอาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่สามารถลดโอกาสเกิดให้น้อยลงได้ โดยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ตรวจสุขภาพและพบแพทย์สม่ำเสมอ รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาแฟ การสูบบุหรี่ และความเครียด


ศูนย์หัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลหัวเฉียว มีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการเฉพาะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยคุณภาพมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัยเป็นสำคัญ พรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือเทคโนโลยีที่ทันสมัย อีกทั้งสามารถดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทุกสิทธิตลอด 24 ชั่วโมง และมีบริการรถ Mobile ICU เพื่อรองรับผู้ป่วยฉุกเฉิน สายด่วนศูนย์หัวเฉียวพิทักษ์ชีพ โทร. 081-8703538-40

การผ่าตัดบายพาส.. โดยไม่ใช้เครื่องปอดและหัวใจเทียม (Off-Pump Coronary Artery Bypass Grafting)(OPCAB)
การรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันด้วยการกรอหินปูน (Rotablator)
ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ