ผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกมดลูก

ผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูก เป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อยในผู้หญิงอายุประมาณ 30–50 ปี จัดเป็นเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเซลล์กล้ามเนื้อของมดลูกที่ผิดปกติ อาจเกิดได้ในเนื้อมดลูกหรือในโพรงมดลูก

สาเหตุ : ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่พบว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องคือ กรรมพันธุ์หรือบุคคลในครอบครัวมีประวัติเป็นเนื้องอก และการมีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สูงขึ้น โดยพบว่าเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนซึ่งเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนมีระดับลดลง เนื้องอกมดลูกก็จะฝ่อตัวเล็กลงด้วยเช่นกัน

อาการ :

  • ปวดประจำเดือนมากหรือประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งเกิดจากก้อนเนื้อที่ยื่นมาในโพรงมดลูก ทำให้โพรงมดลูกมีขนาดใหญ่ขึ้นและพื้นผิวของโพรงมดลูกกว้างขึ้น
  • ปัสสาวะบ่อย เกิดจากก้อนเนื้อมีขนาดใหญ่อาจไปกดทับกระเพาะปัสสาวะ
  • ท้องผูก เกิดจากเนื้องอกอาจไปกดทับบริเวณลำไส้ตรง
  • ภาวะมีบุตรยาก ซึ่งจะเกิดขึ้นในกรณีที่ก้อนเนื้องอกโตยื่นเข้าไปในโพรงมดลูก ทำให้เกิดการอุดตันของท่อนำไข่หรือขัดขวางการฝังตัวของตัวอ่อน

 

การรักษา : ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ลักษณะของเนื้องอก การเติบโตของเนื้องอก รวมถึงปัจจัยต่างๆ ของผู้ป่วย เช่น อายุ ความต้องการมีบุตร เป็นต้น

  1. การรักษาโดยใช้ยา เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาเนื้องอกมดลูกให้หายขาดได้ แพทย์นำมาใช้เพื่อบรรเทาอาการให้ดีขึ้นเท่านั้น เช่น ยาต้านอักเสบ ยาเม็ดคุมกำเนิด ยากรดทราเนซามิค เป็นต้น
  2. การรักษาด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง
    • การผ่าตัดส่องกล้องทางโพรงมดลูก (Hysteroscopy) ใช้ในการผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูกที่อยู่ในโพรงมดลูก โดยจะสอดกล้องผ่านช่องคลอด ปากมดลูกเข้าสู่โพรงมดลูกและใช้ลวดไฟฟ้าในการตัดเนื้องอก ซึ่งวิธีนี้จะไม่มีแผลผ่าตัดทำให้สามารถฟื้นตัวได้เร็ว และลดโอกาสเสี่ยงการเกิดไส้เลื่อน
    • การผ่าตัดส่องกล้องทางช่องท้อง (Laparoscopy) ใช้ในการผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูกขนาดใหญ่ เทียบได้กับการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง การผ่าตัดส่องกล้องนี้ผู้ป่วยจะมีแผลขนาด 0.5–1.0 เซนติเมตร จำนวน 3–4 แผล ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้เวลาในการฟื้นตัวเร็วแผลเล็ก เจ็บน้อย ทำให้กลับสู่ชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็ว


ด้วยความปรารถนาดีจาก.. คลินิกสูตินรีเวช ศูนย์แม่และเด็ก โรงพยาบาลหัวเฉียว

มะเร็งทางนรีเวช.. ภัยร้าย ที่ผู้หญิงควรรู้
ผ่าตัดส่องกล้องเนื้องอกมดลูก
โรคมะเร็งรังไข่