โรคกระดูกสันหลัง

โรคกระดูกสันหลัง

สาเหตุ : เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เช่น ความเสื่อมสภาพตามอายุ พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน ลักษณะการทำงาน เช่น การยกของหนัก การนั่งหรือยืนในท่าที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น รวมถึงจากอุบัติเหตุ

อาการ : ผู้ป่วยมักมีอาการปวดหลังบริเวณเอว คอ สะบัก มีอาการชาหรืออ่อนแรง อาจมีอาการปวดร้าวลงที่ขา จากการกดทับเส้นประสาทของกระดูกสันหลัง หรือมีไข้สูงที่เกิดจากการติดเชื้อ ซึ่งอาการปวดต่างๆ เป็นสาเหตุของโรคกระดูกสันหลังที่รุนแรงได้ เช่น

  • โรคหมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Intervertebral disc herniation)
  • โรคกระดูกสันหลังเคลื่อน (Spondylolisthesis)
  • โรคข้อสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis)
  • โรคช่องไขสันหลังตีบ (Spinal stenosis)
  • โรคกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม (Cervical spondylosis)

 

การป้องกัน : ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ได้แก่

  • ลดน้ำหนัก น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ส่งผลให้หลังและเอวต้องรับน้ำหนักตัวที่มาก
  • ออกกำลังกาย การเสริมสร้างกล้ามเนื้อบริเวณท้องและหลังให้แข็งแรงขึ้น
  • นั่งและยืนในท่าที่ถูกต้อง โดยยืดหลังให้ตรง ผายไหล่ออก ไม่นั่งไขว่ห้างหรือเท้าคาง
  • ไม่นั่งหรือยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 20-45 นาที
  • ไม่ควรยกของหนัก หากมีความจำเป็นควรอยู่ในท่าทางที่ถูกต้อง โดยหลังตรง งอเข่า แยกเท้าและถ่ายเทน้ำหนักของเท้าทั้ง 2 ข้างให้เท่ากัน ไม่บิดเอว
  • รับประทานแคลเซียมและวิตามินดี เพื่อเสริมสร้างกระดูกและป้องกันกระดูกพรุน เช่น นม ผักใบเขียว ไข่แดง และปลาที่มีไขมันดี
  • งดสูบบุหรี่ ซึ่งส่งผลต่อการไหลเวียนของโลหิตที่จะส่งไปเลี้ยงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณหลัง

 

การรักษา : โดยแพทย์จะพิจารณาการรักษาจากสาเหตุของการเกิดโรค

  • หากผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง อาจรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ยา การทำกายภาพบำบัด
  • กรณีที่มีอาการมากหรือเรื้อรัง แพทย์อาจต้องใช้การผ่าตัด ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการผ่าตัดกระดูกสันหลังผ่านกล้องจุลศัลยกรรม OPMI PENTERO 800 ที่มีกำลังขยายถึง 39 เท่า ประกอบกับเทคโนโลยีเรืองแสงระหว่างการผ่าตัด มีการแยกระบบแสดงภาพวิดีโอ ภาพจึงมีความคมชัดแบบเรียลไทม์ สามารถมองเห็นโครงสร้างต่างๆได้อย่างละเอียดและแม่นยำ

ด้วยความปรารถนาดีจาก.. ศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลหัวเฉียว

การผ่าตัดข้อไหล่ด้วยวิธีส่องกล้อง (Arthroscopic Surgery)
ผ่าเปลี่ยนข้อเข่า แบบไม่ตัดกล้ามเนื้อ
โรคกระดูกสันหลัง