โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยง และทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย เนื่องจากหลอดเลือดตีบ อุดตัน หรือแตก ทำให้ขัดขวางการลำเลียงเลือดซึ่งนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย เสียหาย และการทำงานของสมองหยุดชะงัก เป็นสาเหตุให้เกิดภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต และเสียชีวิตได้ ซึ่งโรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับสามรองจากโรคมะเร็งและโรคหัวใจ
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke): แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
- โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) เกิดจากการตีบตันบริเวณหลอดเลือดสมองหรือคอ หรือลิ่มเลือดอุดตันบริเวณหลอดเลือดสมองหรือคอ พบได้ร้อยละ 80
- โรคหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) เกิดจากความดันโลหิตสูงหรือเส้นเลือดโป่งพองในสมอง พบได้ร้อยละ 20
การรักษา : ขึ้นอยู่กับสาเหตุว่าเป็นประเภทตีบ อุดตัน หรือแตก โดยจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกัน
- หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน แพทย์จะให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์และมาในเวลาที่รวดเร็วภายใน 6 ชั่วโมง เพื่อทำให้เลือดไหลเวียนได้อย่างปกติ
- หลอดเลือดสมองแตก จะเป็นการรักษาระดับความดันโลหิต ในบางกรณีแพทย์อาจทำการผ่าตัดเพื่อป้องกันความเสียหายของสมองที่อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิต
อาการสำคัญของโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Acute Ischemic Stroke): มักเป็นอาการที่เกิดขึ้นทันทีทันใด
- B – Balance : เสียการทรงตัว เดินเซ
- E – Eye : การมองภาพมีปัญหา ตามัว มองเห็นภาพซ้อนหรือตาบอดข้างเดียว
- F – Face : อาการชาหรืออ่อนแรงที่ใบหน้า ซีกใดซีกหนึ่ง ทำให้มีอาการใบหน้าเบี้ยว ปากเบี้ยว อมน้ำไม่อยู่ น้ำลายไหลออกจากมุมปากข้างที่ตก หรือรู้สึกหนาๆ บริเวณใบหน้า
- A – Arm : อาการชาหรืออ่อนแรงที่แขนขา ซีกใดซีกหนึ่ง
- S – Speech : การพูดลำบาก พูดไม่ชัด พูดไม่ออก พูดติดๆ ขัดๆ นึกคำพูดไม่ออก
- T – Time : หากมีอาการผิดปกติ ควรรีบมาโรงพยาบาลอย่างรวดเร็วภายใน 6 ชั่วโมง ซึ่งแพทย์ผู้ชำนาญการ เฉพาะทางจะสามารถให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ หรือรักษาโดยใช้สายสวนทาง หลอดเลือดแดงเพื่อละลายลิ่มเลือด และเปิดเส้นเลือดได้
ปัจจัยเสี่ยง : มีหลายประการ ดังนี้
1. ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถป้องกันได้ ได้แก่
- อายุ โดยผู้สูงอายุมีโอกาสเป็นได้มาก เนื่องจากการเสื่อมสภาพของหลอดเลือด
- เพศชาย มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองสูงกว่าเพศหญิง
- พันธุกรรม คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคหัวใจขาดเลือด
2. ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้ ได้แก่
- โรคความดันโลหิตสูง ที่ควบคุมได้ไม่ดี
- โรคเบาหวาน ในผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี หรือเป็นโรคเบาหวานมาเป็นระยะเวลานาน
- โรคหัวใจบางประเภท เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ
- ภาวะการแข็งตัวของเลือดเร็วกว่าปกติ
- ไขมันในเลือดสูง ทำให้หลอดเลือดแดงเกิดการสะสมไขมันจนมีการตีบหรือตัน
- การสูบบุหรี่
การป้องกันโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน (Ischemic Stroke) :
- ดูแลตัวเอง โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 ครั้งๆ ละ 30 นาที และพักผ่อนให้เพียงพอ
- ควรตรวจสุขภาพประจำปี โ ดยตรวจวัดระดับความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันในเลือด
- รู้จักป้องกันการเป็นซ้ำ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการโรคหลอดเลือดสมองและผ่านการรักษาจนพ้นวิกฤตแล้ว ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- เมื่อพบสัญญาณเตือนอันตราย (BEFAST) ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
ด้วยความปรารถนาดีจาก..ศูนย์หลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลหัวเฉียว