โรคมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma)

โรคมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma)

รคมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma) เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในเพศชายมากกว่าเพศหญิงและมีอุบัติการณ์การเสียชีวิตสูง เกิดจากการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์ผิดปกติจนเกิดเป็นก้อนมะเร็งตับ และอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆตามมาได้ ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งตับ เช่น โรคตับเรื้อรังและโรคตับแข็ง อันเกิดจากสาเหตุต่างๆ เช่นการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือชนิดซี ภาวะไขมันพอกตับ กลุ่มโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้เกิดการสะสมของเหล็กที่ตับ การได้รับสารพิษบางชนิดเช่น Aflatoxin จากเชื้อราที่ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารแห้ง ธัญพืชหรือถั่วลิสง เป็นต้น

ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในระยะแรกอาจยังไม่แสดงอาการ เมื่อก้อนมะเร็งตับมีขนาดใหญ่ขึ้นจะเริ่มแสดงอาการ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด จุกเสียดท้องหรือปวดใต้ชายโครงขวา ไข้ไม่ทราบสาเหตุ คลำได้ก้อนที่ตับ และตาเหลืองตัวเหลือง ในรายที่มีโรคตับแข็งอยู่เดิมมักจะมาด้วยอาการที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็งนั้นๆเช่น ปริมาณน้ำในช่องท้องมากขึ้น อาเจียนเป็นเลือดหรือถ่ายดำจากเส้นเลือดขอดบริเวณหลอดอาหาร เป็นต้น

 

สัญญาณทางร่างกายที่อาจบ่งบอกถึงโรคมะเร็งตับ

  1. ตัวเหลือง ตาเหลือง
  2. จุกเสียดท้องหรือปวดใต้ชายโครงขวา
  3. คลำได้ก้อนที่ตับ
  4. ท้องบวมโต ท้องมานจากน้ำในช่องท้อง
  5. อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
  6. ไข้ไม่ทราบสาเหตุ


หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป อนึ่ง การวินิจฉัยโรคมะเร็งตับโดยทั่วไปประกอบด้วยการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ Alpha-fetoprotein (AFP), การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) บริเวณตับและช่องท้อง และประเมินระยะการแพร่กระจาย รวมไปถึงการเจาะชิ้นเนื้อตับ (liver biopsy) บริเวณก้อนเนื้อในผู้ป่วยที่จำเป็นบางราย

หลักการรักษาโรคมะเร็งตับขึ้นกับระยะโรคขนาดและจำนวนก้อนที่ตับและความแข็งแรงของผู้ป่วย อาทิเช่น การผ่าตัดก้อนออก การปลูกถ่ายตับ การทำลายเนื้อเยื่อมะเร็งตับด้วยความร้อน (Radiofrequency ablation หรือ Microwave ablation) การฉีดยาเคมีบำบัดและอุดหลอดเลือดแดงที่มาเลี้ยงบริเวณก้อน (Trans-arterial chemoembolization, TACE) และการรักษาด้วยยาแบบมุ่งเป้า (Targeted therapy) เป็นต้น

 

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคมะเร็งตับ เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ รับประทานอาหารที่สุกสะอาด และที่สำคัญที่สุดคือการตรวจคัดกรองหามะเร็งตับเป็นระยะในประชากรกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบชนิดบีและชนิดซีเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคตับแข็งจากสาเหตุต่างๆ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ Alpha-fetoprotein (AFP) และตรวจอัลตราซาวด์ตับเป็นระยะทุก 6 เดือน

ปัญหา "นอนกรน" เสี่ยงหยุดหายใจขณะหลับ Obstructive Sleep Apnea (OSA)
ใส่ใจไต.. ด้วยการฟอกไตประสิทธิภาพสูง Online HDF
โรคมะเร็งตับ (Hepatocellular carcinoma)
โรคมะเร็งปอด