โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
ทางเดินอาหารของคนเราประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ได้แก่ หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่หลักในการย่อยสลายสารอาหารโมเลกุลใหญ่ให้เล็กลง โดยอาศัยการทำงานของกรดเกลือ (Hydrochloric Acid) เพื่อให้ง่ายต่อการดูดซึมที่ลำไส้เล็ก โดยมะเร็งกระเพราะอาหารเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีสาเหตุ มาจากความผิดปกติบริเวณทางเดินอาหาร ถือเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่คนไทยพบบ่อยมากที่สุด
มะเร็งกระเพาะอาหาร เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติและไม่สามารถควบคุมได้ของเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหาร โดยสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกบริเวณของกระเพาะอาหาร เมื่อมะเร็งเกิดการขยายตัวขึ้นจะส่งผลกระทบต่อส่วนอื่นๆ เช่น น้ำเหลือง ตับ ตับอ่อน ลำไส้ ปอด และรังไข่
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหารอาจประกอบไปด้วย
- การอักเสบของกระเพาะอาหารเรื้อรัง การรับประทานอาหารบางอย่างที่กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบ เช่น อาหารปิ้งย่าง
- การติดเชื้อเอชไพโลไร (Helicobacter Pylori) เชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่เข้าสู่ร่างกายและอาศัยอยู่ในกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารอักเสบ และแผลในกระเพาะอาหาร
- ผู้ป่วยที่เคยได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหาร
- ปัจจัยทางด้านพฤติกรรมและสิ่งแวดล้ม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา รูปร่างอ้วนหรือน้ำหนักเกิน การบริโภคอาหาร บางชนิด เช่น อาหารที่มีรสเค็มจัด หรืออาหารที่มีส่วนประกอบของสารประกอบเอ็น-ไนโตรโซ
- โรคประจำตัวบางชนิด เช่น ภาวะโลหิตจางเรื้อรังและรุนแรง (Pernicious anemia) ที่พบร่วมกับกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง
อาการของผู้ป่วยระยะแรกมักไม่อาการแสดงใดๆ ที่รุนแรงมากนัก บางรายมักพบอาการคล้ายผู้ป่วยโรคกระเพาะอักเสบ หรือ แผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ อาหารไม่ย่อย เรอบ่อย แสบร้อนกลางอก อาการปวดท้อง จุกท้องบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด แต่หากโรคเริ่มมีภาวะลุกลามขึ้น ผู้ป่วยอาจมีอาการที่รุนแรง เช่น เลือดออกในทางเดินอาหารทำให้มีอาเจียนเป็นเลือด หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำคล้ายยามะตอย มีอาการน้ำหนักลดลงอย่างมาก หรือมีอาการอุดกั้นของทางเดินอาหารส่วนบน เช่น คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง
ทั้งนี้การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติเผ็ดจัด เปรี้ยวจัดของหมักดอง ของทอดของมัน ก็เป็นการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้